ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 4,830

พระตำหนักทับขวัญ

พระตำหนักทับขวัญ

พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยภาคกลางที่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบที่สุด และเป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมเรือนไทยชั้นครูที่ยังคงลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง ฤทัย ใจจงรัก อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้วิจัยเรื่อง "เรือนไทยเดิม" กล่าวว่า "เรือนทับขวัญ ถือว่าเป็นฝีมือครู ซึ่งเป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นหลังไปศึกษาค้นคว้าได้ดีที่สุด เรือนนี้อยู่ในประเภทเรือนคหบดีและมีส่วนประกอบครบ" พระตำหนักทับขวัญตั้งอยู่ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรับเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์ ปัจจุบัน ภายในพระตำหนักใช้จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจด้านไทยศึกษาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประวัติความเป็นมาพระตำหนักทับขวัญ

ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนครปฐมห่างไป 1 กิโลเมตร มีบริเวณที่เรียกกันมาว่า "เนินปราสาท" ใกล้ๆ กับเนินแห่งนี้ มีสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า "สระน้ำจันทร์" เป็นที่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังเพื่อแปรพระราชฐานในการเสด็จมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และทรงพระราชทานนามว่า พระราชวังสนามจันทร์ การก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ ในพระราชวังสนามจันทร์นั้น ได้ดำเนินติดต่อกันมาถึง 4 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2454

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไทยพระตำหนักทับขวัญขึ้น โดยโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2454 การสร้างพระตำหนักทับขวัญในรูปแบบของเรือนไทยเพื่อรักษาศิลปะบ้านไทยแบบโบราณ พระองค์ได้ประทับแรม ณ พระตำหนักองค์นี้เป็นเวลา 1 คืน และเมื่อมีการซ้อมรับเสือป่า พระตำหนักองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่าราบหนักรักษาพระองค์ โดยพระตำหนักทับขวัญสร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักทับแก้ว ซึ่งเป็นตึกฝรั่งอยู่ทางด้าน ตะวันออกคนละฟากถนนกับทับแก้ว

ในสมัยรัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทยขอให้ทับขวัญเป็นที่พักเกษตรมณฑล พ.ศ. 2479 เพื่อจัดการบูรณะ ทางจังหวัดนครปฐมขอทับขวัญเป็นสิทธิ์ ตามเรื่องราวปรากฏว่า "เคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กระทรวงวังมีความรังเกียจที่จะให้ผู้อื่นอยู่ร่วมอาศัย ได้เคยดำริจะรื้อนำมากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2476 แต่ยังมิได้จัดการอย่างไรต่อจากนี้ เลขานุการคณะกรรมการพระราชวัง ได้มีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์ ความว่า ยังไม่เห็นควรรื้อ เพราะ เห็นว่าเรือนนี้ยังคงทนถาวรอยู่"

ปี พ.ศ. 2509 พระตำหนักทับขวัญตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร สภาพพระตำหนักในตอนนั้น ทรุดโทรมมาก หลังคา ชำรุดและรั่ว พื้นพัง โดยเฉพาะพื้นชานไม่ สามารถใช้ได้ ในปี 2511 มหาวิทยาลัย มีความคิดที่จะใช้ทับขวัญเป็นพิพิธภัณฑ์ทางภาษาและวัฒนธรรมไทยและคิดจะบูรณะแต่ขาดเงินซึ่งภายหลังกรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ของบประมาณ และขอรับบริจาคจากหน่วยงานต่าง ๆ จนสามารถดำเนินการบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์โดยวิธีรื้อของเก่าออกทั้งหลังแล้วประกอบใหม่ให้เหมือนเดิมโดยเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาแทนจาก

คณะกรรมการส่งเสริมกิจการละครพูดกับนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ร่วมกันจัดการแสดงละครพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2519 เพื่อเก็บเงินตั้งเป็นกองทุนบูรณะพระตำหนักทับขวัญ โดยมีการแสดงเรื่อง "ตบตา" และเรื่อง "ทานชีวิต" ที่โรงละครแห่งชาติ

ใน พ.ศ. 2524 อันเป็นปีฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากร ได้เสนอของบประมาณเพื่อบูรณะพระตำหนักทับขวัญเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ฝ่ายมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตั้ง "คณะกรรม การร่างโครงการบูรณะเรือนทับขวัญ" และได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ขอให้ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อการนี้  ซึ่งทาง มหาวิทยาลัยชี้แจงว่าจะใช้พระตำหนักทับขวัญเป็นศูนย์วัฒนธรรมภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด บริจาคเงินสมทบทุนไว้อีก หนึ่งหมื่นบาท ในปีเดียวกันนี้ชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดนครปฐม ได้จัดการโขนกลางแปลงเรื่อง "มารชื่อพิเภก" ได้เงินหนึ่งแสนบาทและสมาคมชาวนครปฐม จัดงาน "ห้าธันวามหาราช" ได้เงินสมทบทุนอีกหนึ่งแสนบาท และต่อมาบริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด ได้บริจาคเงินสองล้านบาทร่วมบูรณะพระตำหนักทับขวัญ เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ในขณะเดียวกันกรมศิลปากร ได้งบประมาณแผ่นดินเพื่อบูรณะพระตำหนักทับขวัญหนึ่งล้านบาท

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2525 นี้เอง ทางมหาวิทยาลัยได้ทำการบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหลัง โดยให้อยู่ในรูปแบบลักษณะเดิมทุกประการ แต่เปลี่ยนแปลงทางด้านระบบโครงสร้างและวัสดุ ทางด้านโครงสร้าง เสาช่วงล่างเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและเพิ่มคานด้านความยาวเพื่อรองรับราที่เพิ่มให้ถี่ขึ้น ในการรองรับพื้นเรือนให้สามารถรองรับน้ำหนักจากผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมพระตำหนักซึ่งจำนวน จะมากกว่าปกติ ส่วนวัสดุจะเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาจากตับเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาหลบหลังคาที่สันหลังคา และหลบหลังคาปั้นลมเปลี่ยนมาเป็นทำด้วยปูน และปูอิฐที่ใต้ถุน เพื่อให้ได้ประโยชน์การใช้สอยเพิ่มขึ้น พระตำหนักทับขวัญที่สร้างใหม่เสร็จวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2526โดยในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธี

ปัจจุบัน ภายในพระตำหนักใช้จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจด้านไทยศึกษาของพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น เรื่องเกี่ยวกับภาษา วรรณคดี โบราณคดี การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กิจการเสือป่า และลูกเสือไทย เป็นต้น

ลักษณะของเรือนไทยพระตำหนักทับขวัญ

เรือนไทยพระตำหนักทับขวัญสร้างด้วยไม้สักทองใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับบ้านไทยโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม หลังคาเดิมมุงจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา พระตำหนักทับขวัญประกอบด้วยกลุ่มเรือน 8 หลัง ได้แก่ เรือนใหญ่ 4 หลัง เรือนเล็ก 4 หลัง สร้างให้หันหน้าเข้าหากัน 4 ทิศบนชานรูปสี่เหลี่ยม เรือนหลังใหญ่เป็นหอนอน 2 หอ (ห้องบรรทมเป็นหอนอนที่อยู่ทางทิศใต้) อีก 2 หลังเป็นเรือนโถงและเรือนครัวซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนเรือนเล็กอีก 4 หลังนั้นตั้งอยู่ตรงมุม 4 มุมๆ ละ 1 หลัง ได้แก่ หอนก 2 หลัง เรือนคนใช้และเรือนเก็บของ เรือนทุกหลังมีชานเรือนเชื่อมกันโดยตลอด บริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันทน์ใหญ่แผ่กิ่งก้านไว้ให้ร่มเงาอยู่กลางนอกชาน รอบๆ บริเวณปลูกไม้ไทย มีต้นจันทร์ จำปี นางแย้ม นมแมว เป็นต้น (เมื่อปี พ.ศ. 2510 - 2511 ยังมีกระถางไม้ดัดและอ่างปลาเหลืออยู่ที่นอกชาน)

คูหาหน้าบันประดับด้วยป้านลมและตัวเหงาหน้าบันเป็นแบบลูกฟักหน้าพรหม ฝาเรือนเป็นไม้เข้าลิ้นแบบฝาปะกน พระตำหนักนี้จะมีบันไดขึ้นลง 2 บันได บันไดหน้ามีซุ้มประตูเป็นหลังคาซุ้มเล็กๆ ทรงเดียว กับหลังคาเรือน บันได อยู่ที่ส่วนเชื่อมต่อกันของชานระเบียงเรือนใหญ่กับเรือนเล็ก แรกเริ่มนั้นเรือน ทุกหลังมุงหลังคาด้วยตับจาก และหลบสันหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา แต่ได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผาภายหลัง โครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้ พื้นเป็นไม้สักปูตามยาวของตัวเรือนมีรอดรองรับ นอกจากนี้พระตำหนักทับขวัญนี้ยังเป็นเรือนไทยที่มีใต้ถุนสูง ใต้ถุนของตัวเรือน คนสามารถเดินลอด ผ่านได้สะดวก ส่วนใต้ถุนของระเบียงและชาน สามารถลอดได้แต่ไม่สะดวกนัก

การเดินทาง

  • ทางรถยนต์
    ให้ใช้แยกนครชัยศรีเป็นหลัก ซึ่งถ้าวิ่งมาจากกรุงเทพจะสามารถมาได้จาก ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) และถนนสายปิ่นเกล้า - นครชัยศรี (ทางหลวงหมายเลข 338 ) เพื่อมุ่งหน้าสู่นครปฐม ทั้งสองเส้นทางด้านบนจะต้องผ่านแยกนครชัยศรี
    จากแยกนครชัยศรี ขับตรงไปประมาณ 8.5 กิโลเมตร จะถึงแยกบ้านแพ้ว (ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปบ้านแพ้ว ถ้าตรงไปจะไปนครปฐม ราชบุรี) ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร จะพบสะพานไปตัวเมืองนครปฐม ให้ขับขึ้นสะพาน (ถ้าตรงไปจะไปราชบุรี) จากนั้นขับตรงไปอีกประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบ 4 แยกไฟแดง (ถ้าตรงไปก็คือ องค์พระปฐมเจดีย์ ถ้าเลี้ยวขวาจะเข้าไปยังตลาดนครปฐม ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปจังหวัดสุพรรณบุรี) เลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงไปประมาณ 200 เมตร จากนั้นเลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปประมาณ 1.9 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวขวาที่ไฟแดง เลี้ยวขวาแล้วให้ขับตรงไปประมาณ 400 เมตร ก็จะถึงพระราชวังสนามจันทร์
  • ทางรถโดยสารประจำทาง
    จากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ นั่งรถสายกรุงเทพฯ - สุพรรณบุรี ไปลงที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม) จากนั้นเดินเท้าประมาณ 400 เมตร จะถึงพระราชวังสนามจันทร์
ที่เที่ยวแนะนำ