ที่เที่ยว

  • ข้อมูล
  • แผนที่
  • Street View
เพิ่มรูป แก้ไข View : 5,727

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ โครงยึดหัวเสาทั้งคู่ แกะสลักอย่างสวยงาม ทั้งหมดทาสีแดงชาด ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่

เสาชิงช้านี้มีความสูง 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.50 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ติดสายล่อฟ้าจากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

การก่อสร้าง
 จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2327 บริเวณลานด้านเหนือของวัดสุทัศนเทพวราราม แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร ต่อมาสร้างใหม่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราวราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่
 
พิธีโล้เสาชิงช้า
 ขณะทำพิธีโล้ชิงช้า ตึกทางซ้ายมือเป็นตึกตลาดเสาชิงช้าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 รื้อหมดแล้ว กลายเป็นลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบันเสาชิงช้าใช้ในพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
 
 เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์จะแกะรูปสัญลักษณ์ของเทวดาแต่ละองค์เป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่น เพื่อทำการบูชาในเทวสถานแล้วจากนั้นจะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาตำแหน่งที่มีพระยายืนชิงช้านั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุม ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่
 
 พระราชพิธีตรียัมปวายนี้จะกระทำในเทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์
 
 แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย(ธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (มกราคม) พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร
 
ตำนานพิธีตรียัมปวาย
 พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน
 
 ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น'ต้นพุทรา' ช่วงระหว่างเสาคือ'แม่น้ำ' นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือ'พญานาค' โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
 
 พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น
 
การซ่อมแซม
 ล่วงสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 บริษัทหลุยส์ ที.เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้มอบซุงไม้สักสำหรับสร้างเสาชิงช้าใหม่ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 นับเป็นการปฏิสังขรณ์ครั้งแรก และซ่อมใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2502 ครั้งนั้นเสาชิงช้ามีส่วนสูงทั้งสิ้น 21.15 เมตร
 
 ต่อมาเมื่อพ.ศ. 2490 เกิดไฟไหม้เสาชิงช้า เนื่องจากมีผู้จุดธูปกราบไหว้ ไฟจากธูปตกลงในรอยแตกและลามจนไหม้ จึงต้องซ่อมชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2513 เสาชิงช้าชำรุดทรุดโทรมมากต้องเปลี่ยนเสาใหม่ โดยการบูรณะได้พยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ
 
 กระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2539 มีการซ่อมแซมอีกครั้งโดยสำนักการโยธา กทม. ได้ใช้สายเหล็กรัดเป็นโครงเหล็กประกับ คล้ายลักษณะเข้าเฝือกไม้ยึดโครงสร้างหลัก
 
 ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พบว่าเสาชิงช้ามีความชำรุดทรุดโทรมมาก ปรากฏรอยผุแตกเป็นร่องลึกตลอดแนวยาว โดยเฉพาะโคนเสากลาง
 
 กทม.ได้ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการซ่อมแซมด้วยการเปลี่ยนเป็นเสาใหม่ทั้งหมด เน้นการแก้ไขการผุกร่อนในระยะยาว เนื่องจากสาเหตุที่เสาชิงช้าผุกร่อนได้ง่ายนั้นเป็นเพราะภายใต้ฐานเสามีน้ำซึมขัง ทางกทม.ตั้งเป้าไว้ว่าเสาชิงช้าใหม่จะยืนหยัดได้ถึง 100 ปี เมื่อเทียบกับการบูรณะครั้งก่อนหน้าที่ทำให้เสาชิงช้ามีอายุการใช้งานมากกว่า 35 ปี
 
 คณะกรรมการบูรณะเสาชิงช้าของกทม.ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือในเรื่องการรักษาสภาพไม้ โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เสนอให้จัดทำระบบระบายน้ำ และระบบควบคุมความชื้นภายใน โดยจะติดตั้งเครื่องดูดน้ำไว้ที่ใต้ฐานเสาชิงช้า และจะต้องขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 18 เมตร เพื่อทำเป็นห้องใต้ดินควบคุมการทำงาน พร้อมวางระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
ความสำคัญทางโบราณคดี
 การรื้อถอนหรือก่อสร้างโบราณสถานในเขตเมืองพระนครนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากรในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่นั้นๆ
 
 นักโบราณคดีได้ทำการขุดแต่งในระดับแนวพื้นเดิมที่ยังเหลือร่องรอย และแต่งด้านหน้าติดกัน ด้านทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) และทิศเหนือ (ด้าน กทม.) ในการตรวจสอบชั้นดินเบื้องต้น ได้เชิญนายชาติชาย ร่มสน ผู้เชี่ยวชาญชั้นดินทางวัฒนธรรมมาช่วยในการวิเคราะห์ สรุปรายละเอียดเบื้องต้นได้ดังนี้
 
 ชั้นดินด้านทิศใต้(ด้านวัดสุทัศน์) ปรากฏลักษณะร่องรอยกิจกรรม 3 สมัย กล่าวคือ สมัยที่หนึ่งเป็นชั้นแนวอิฐขนาดใหญ่ เรียงสลับตามแนวนอน ก่อซ้อนกันประมาณ 3 ชั้น และมีการก่ออิฐในแนวตั้งยกเป็นขอบ ใต้ชั้นแนวอิฐเป็นชั้นดินเหนียว
 
 สมัยที่สองเป็นชั้นพื้นปรากฏเป็นแนวในแกนตะวันออก-ตะวันตก ลักษณะเป็นหินกรวดหลายขนาดผสมปูนขาว เทปูเป็นพื้น ใต้ลงไปเป็นชั้นอิฐบดวางทับอยู่บนชั้นดินเหนียว
 
 สมัยที่สามเป็นท่อน้ำเหล็กที่วางอยู่ในชั้นอิฐสมัยที่ 1 เป็นลักษณะเจาะชั้นอิฐลงไปเพื่อวางท่อเหล็ก
 
 ชั้นดินด้านทิศเหนือ(ด้าน กทม.) ปรากฏร่องรอยกิจกรรม 2 สมัย คือ
 
 สมัยที่หนึ่ง(ตรงกับสมัยที่สองของชั้นดินด้านทิศเหนือ) เป็นชั้นพื้น ลักษณะการเรียงตัวของชั้นดิน คล้ายสมัยที่ 2 ด้านเหนือ คือชั้นบนสุด เป็นหินกรวดผสมปูนรองลงไปเป็นชั้นปูนขาว ใต้ชั้นปูนขาวเป็นอิฐก่อสอปูนวางแนวเหนือ-ใต้ ประมาณ 9-11 ชั้น
 
 สมัยที่สอง(ตรงกับสมัยที่ 3 ของชั้นดินด้านทิศเหนือ) เป็นส่วนของท่อน้ำเหล็ก ปรากฏลักษณะการตัดเป็นช่องสี่เหลี่ยมลงไปในชั้นดินสมัยที่ 1 เพื่อวางท่อน้ำ
 
 ในรายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่าพบแนวอิฐด้านนอกวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก 1 แผ่น โดยแนวดังกล่าวจะเว้นช่องว่าง จากนั้นจึงก่อแนวอิฐอีก 1 ชั้น วางตัวในลักษณะเดียวกัน โดยชั้นบนสุดจะใช้อิฐก่อตะแคงปิดด้านบนของช่องดังกล่าว
 
 สรุปชั้นดินเบื้องต้นได้ว่าแนวอิฐในสมัยที่หนึ่ง(ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนนเดิมที่มีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนแนวพื้นสมัยที่สอง(ด้านวัดสุทัศน์) น่าจะเป็นแนวถนนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีรางระบายน้ำอยู่ขอบถนน อาจจะมีการปรับพื้นที่ด้วยการอัดดินเหนียวเพื่อให้ได้ระดับแล้วจึงเทชั้นถนน ส่วนท่อเหล็กสมัยที่สามน่าจะเป็นท่อประปาที่สร้างขึ้นในสมัยหลังคือสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นหลังจากมีการสร้างถนนแล้ว
 
 ช่วงท้ายของรายงานชี้แจงว่าได้มีการบันทึกภาพถ่ายพร้อมทั้งรายละเอียดทุกขั้นตอนนอกจากนี้ยังได้ทำแผนผังหลุม แผนผังชั้นดิน ลายเส้นแนวอิฐ รวมถึงเก็บตัวอย่างดินในแต่ละชั้นและอิฐ เพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นจึงจะนำผลวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการมาวิเคราะห์ร่วมกับหลักฐานอื่น เช่น เอกสาร แผนผังและรูปถ่ายโบราณ เพื่อจะประมวลเป็นรายงานเบื้องต้นต่อไป
 
 การค้นพบร่องรอยแนวถนนโบราณก่อนสมัยรัชกาลที่4 และท่อน้ำเหล็กสมัยรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจากการรื้อถอนเสาชิงช้าปี พ.ศ. 2549 จึงเป็นผลดีสำหรับการเพิ่มเติมข้อมูลวิชาการโบราณคดีเมือง และหากเป็นไปตามเป้าประสงค์ของ กทม. โอกาสที่ผืนดินนี้จะถูกขุดแต่งทางโบราณคดีอีกครั้งก็น่าจะเป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษข้างหน้า
 
 
สายรถเมล์ที่ไปเสาชิงช้า
 สาย 35 เส้นทางสาธุประดิษฐ์ - เสาชิงช้า
 สาย 42 เส้นทางวงกลมเสาชิงช้า - ท่าพระ
 สาย 12 เส้นทางห้วยขวาง - ปากคลองตลาด

 

 
เสาชิงช้า

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า

เสาชิงช้า

เสาชิงชาตอนกลางคืน

เสาชิงชาตอนกลางคืน