แก้ไข

เทศกาลประเพณี, ปทุมธานี

 

เปิดสงกรานต์

 

เป็นประเพณีสงกรานต์ ข้าวแช่ของชาวไทยรามัญ (มอญ) มีการนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิ พร้อมกับจัดอาหารคาว หวาน จัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระ และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ นับถือในวันสงกรานต์ พอตอนบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไป สรงน้ำพระ ขอพรจากพระและยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือ กระทำกันมา

 

การเล่นสะบ้า

 

ในโอกาสวันสงกรานต์ตอนบ่ายๆ จะมีหนุ่มสาวพบปะสมาคมกันอย่างใกล้ชิด พวกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย จะเปิดโอกาสให้ลูกหลานของตนแต่งกายให้สวยงามเป็นพิเศษ มาชุมนุมเล่นทอยลูกสะบ้ากันสำหรับลูกสะบ้านั้นทำจากแก่นไม้ประดู่หรือไม้มะค่า มีลักษณะรูปทรงกลม เป็นรูปจานขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว การทอยลูกสะบ้า ผู้เล่นจะทอยไปยังหลักซึ่งอยู่ห่างจากที่ทอยประมาณ 13 วา ให้ล้มลง

 

มอญรำ

 

เป็นประเพณีของชาวรามัญโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ปี่พาทย์มอญเล่น ประกอบการรำและการร้อง ใช้หญิงสาวจำนวน 8-12 คนขึ้นไปรำในงานพิธีมงคล จะแต่งกายชุดสดสวยของชาวมอญห่มสไบเฉียงเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม เกล้าผมมวยรัดด้วยดอกมะลิสดทัดดอกไม้สดข้างหูและสวมกำไลที่ข้อเท้า เว้นแต่พิธีมงคลศพจึงจะแต่งชุดซิ่นสีดำเชิงห่มสไบสีขาวปัจจุบันการแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขกและงานศพของผู้มีเกียรติ

 

ทะแยมอญ

 

เป็นการละเล่นพื้นเมืองของหนุ่มสาวชาวมอญ มีลักษณะคล้ายหมอรำของภาคอีสาน หรือลำตัดของ คนไทยภาคกลาง มีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีต่อปากต่อคำกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเล่น ก็มีไวโอลินและซอ ทะแยมมอญใช้เล่นได้ทั่วไปในทุกโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครึกครื้น ไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิธี เช่น มอญรำ

 

การรำพาข้าวสาร

 

เป็นประเพณีของชาวมอญ นิยมทำกันหลังจากการออกพรรษา เป็นช่วงการทอดกฐินและทอดผ้าป่า โดยคณะผู้รำพาข้าวสารจะพายเรือไปขอรับบริจาคข้าวสาร เงินทองและสิ่งของแล้วนำไปร่วมในการทอดกฐิน

 

การตักบาตรพระร้อย

 

เป็นประเพณีของชาวมอญที่ทำในเทศกาลออกพรรษา ด้วยการนำอาหารคาว-หวาน ลงเรือมาจอดเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอตักบาตร

 

การจุดลูกหนู

 

เป็นประเพณีเผาศพพระภิกษุ-สามเณร ใช้ดอกไม้เพลิงเป็นชนวน ลำตัวเจาะร้อยเชือกชนวน เมื่อจุดฉนวนไฟจะวิ่งตามฉนวนไปยังดอกไม้เพลิง ดอกไม้เพลิงจะวิ่งไปจุดไฟที่เมรุ