แก้ไข

เทศกาลประเพณี, สระบุรี

ประเพณีแห่พระเขี้ยวแก้ว

ชาวพุทธเชื่อกันว่า "พระเขี้ยวแก้ว" เป็นพระทนต์ (ฟัน) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 จะมีการจัดงานของชาวอำเภอพระพุทธบาท โดยอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากพิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารออกแห่ฉลองไปรอบเมืองพระพุทธบาท โดยมีความเชื่อว่า หากมีการแห่พระเขี้ยวแก้วแล้วจะสามารถบันดาลให้ประชาชนชาวพระพุทธบาทได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ทำมาค้าขายดีกันทั่วหน้า และเป็นการจัดงานประจำปีของอำเภอพระพุทธบาท

 

-----------------------------------------------------------------

 ประเพณีตักบาตรดอกไม้

นับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของอำเภอพระพุทธบาท โดยถือเอาวันเข้าพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี กำหนดให้มีงานตักบาตรดอกไม้ มีประชาชนต่างพากันไปทำบุญตักบาตรเนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัด พร้อมกับถวายเทียนพรรษาแก่วัดพระพุทธบาท

ซึ่งตามประเพณีชาวพุทธทั้งหลายเมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแล้วในช่วงบ่ายของวันเข้าพรรษาจะมีการตักบาตรดอกไม้ที่บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ประชาชนจะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายต้นกระชาย หรือต้นขมิ้น มีดอกสีเหลือง หรือดอกสีขาว เรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" ซึ่งดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตาม ไหล่เขา มีเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ที่จังหวัดสระบุรีเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น และในขณะที่พระภิกษุ เดินขึ้นบันได เพื่อที่จะนำดอกเข้าพรรษาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้นชาวบ้านก็จะนำขันน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำลอย ด้วยดอกพิกุล นั่งรออยู่ตามขั้นบันไดเพื่อคอยที่จะล้างเท้าให้แก่พระภิกษุ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการชำระบาปที่ได้กระทำมาให้หมดสิ้นไป

 

-----------------------------------------------------------------

ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท  

รอยพระพุทธบาทค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ปัจจุบันรอยพระพุทธบาทตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน แต่ละปีจะมีประชาชนทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศเดินทางไปนมัสการด้วยความเลื่อมใส และศรัทธา ได้กำหนดให้มีการจัดงานนมัสการปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 3 รวม 15 วัน และในวันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 รวม 8 วัน

 

-----------------------------------------------------------------

ประเพณีเจ้าพ่อเขาตก หรือ งานแห่เจ้าพ่อเขาตก

เป็นงานประเพณีประจำปี โดยในงานนี้จะมีการแสดงอภินิหารต่าง ๆ ของเจ้าพ่อเขาตก ควบคู่กันไปกับ การกระทำพิธีลุยไฟ แห่สิงโตล่อโก๊ะ และการแสดงงิ้ว ส่วนมากชาวจีนที่เป็นลูกศิษย์อยู่ทั่วประเทศ จะเดินทางมาร่วมงาน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 รวม 4 วัน ที่บริเวณวัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท

 

-----------------------------------------------------------------

ประเพณีกำฟ้า

จัดให้มีขึ้นในวันสุกดิบ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 จะมีกิจกรรมการละเล่นพื้นเมือง เช่น เล่นสะบ้า ชนไก่ เผาข้าวหลาม ฯลฯ ส่วนในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะมีการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ข้าวปั้น เล่าประวัติบรรพบุรุษ ฯลฯ โดยจัดงานที่ตำบลไผ่หลิ่ว อำเภอดอนพุด เป็นประจำทุกปี 

-----------------------------------------------------------------

ประเพณีสงกรานต์สรงน้ำเสานางตะเคียนวัดสูง

จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณหน้าอุโบสถวัดสูง อำเภอเสาไห้ โดยกำหนดในวันที่ 23 เมษายน ของทุกปี มีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และปิดทองสรงน้ำเสานางตะเคียน

-----------------------------------------------------------------

การแข่งขันเรือยาวประเพณีลุ่มน้ำป่าสัก

จัดให้มีการแข่งขันเป็นประเพณี ณ บริเวณท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ทุกปี ในวันเสาร์-อาทิตย์ สุดท้ายของเดือนกันยายน โดยเชิญเรือยาวจากจังหวัดต่าง ๆ แบ่งประเภทของเรือเป็น 4 ประเภท เข้าแข่งขันหาผู้ชนะเลิศ ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของท้องถิ่นอย่างหนึ่ง